อายุของสัตว์ในแต่ละช่วงวัยมีผลต่อการพัฒนาของอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ ไม่เท่ากัน จึงทำให้พฤติกรรมการแสดงออกบางอย่างของน้องแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ นอกจากนี้การเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของลูกสัตว์แต่ละตัว ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกต่าง ๆ ของสัตว์อีกด้วย
มารู้จักกับวงจรชีวิตของเจ้าแมวเหมียวกัน
พัฒนาการของแมวจะมีความคล้ายคลึงกับหมา (Robinson,1992) จังหวะชีวิตที่สำคัญคือช่วงอายุ 4 เดือนแรก หากลูกแมวไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีจากแม่แมว เมื่อโตขึ้นจะแสดงอาการก้าวร้าวมากกว่าลูกแมวครอกอื่น ๆ ที่ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่จากแม่
สำหรับวงจรชีวิตของแมวแบ่งออกได้เป็น 6 ระยะด้วยกัน
1. ช่วงแรกเกิด – 2 สัปดาห์ (Neonatal period)
- ระยะนี้ลูกแมวจะเน้นการกินและนอน การอยู่รอดของลูกแมวในระยะนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยการเลี้ยงดูจากแม่เป็นหลัก
- ลูกแมวจะใช้เวลาในการดูดนมประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน โดยในช่วงแรกแม่จะกระตุ้นการกินนมของลูกด้วยการเลียริมฝีปากของลูก
- ในช่วงอายุ 1 สัปดาห์แรกหลังคลอด ตาของลูกแมวจะยังปิดอยู่ หูได้ยินไม่ดี
- การรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ อาศัยสัมผัสจากอุณหภูมิภายนอก เช่น อุ่น เย็น หรือ ร้อน เป็นต้น สัตว์จะยังไม่สามารถควบคุณอุณหภูมิร่างกายได้ในช่วงแรกนี้ เพราะฉะนั้นการดูแลลูกแมวจึงจำเป็นต้องมีสถานที่อุ่น ๆ หรือคอกที่อุ่นสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย
- การดูดนมของลูกแมวส่วนใหญ่จะเป็นการดูดนมเต้าเดิมเนื่องจากมีการจดจำกลิ่นได้ แต่ในกรณีที่มีแม่แมวหลายตัวและเลี้ยงลูกร่วมกันจะไม่พบพฤติกรรมนี้
- ลูกแมวในระยะนี้จะมีอาการคราง ขาจะยังไม่ค่อยมีแรง แต่เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 จะสามารถยืนด้วยขาของตัวเองได้
2. 2 – 3 สัปดาห์ (Transitional period)
- การดูดนมของลูกแมวในระยะนี้ไม่ต้องใช้การกระตุ้นจากแม่แมวแล้ว ลูกแมวสามารถมองเห็นเต้านมได้ชัดและมีความหิวตามรอบของการกินนมปกติ ส่วนแม่แมวจะนอนตะแคงเพื่อให้ลูกดูดนมเท่านั้น
- พัฒนาการด้านต่าง ๆ เริ่มดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น และการรับรส
- เมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะนี้ลูกแมวจะตอบสนองต่อรสชาติอาหาร และจะเริ่มกินอาหารอ่อน ๆ ได้ แต่การรับรู้กลิ่นจะสมบูรณ์เมื่อลูกแมวอายุ 3 สัปดาห์
3. 3 – 12 สัปดาห์ (Socialization period)
- เมื่อแมวอายุได้ประมาณ 1 เดือน แม่แมวมักเริ่มปฏิเสธการดูดนมของลูกโดยการเดินหนีหรือกระโดดขึ้นที่สูง การหย่านมจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 โดยประมาณ
- สำหรับการได้ยินจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 4 สัปดาห์ ลูกแมวจะสามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้เมื่ออายุ 7 สัปดาห์ ส่วนการมองเห็นจะพัฒนาต่อเนื่องจนอายุประมาณ 16 สัปดาห์
- แมววัยนี้จะมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อซึ่งจะถูกสอนโดยแม่แมว ด้วยการหาเหยื่อต่าง ๆ ที่ยังไม่ตายมาให้ลูกแมวเล่น พฤติกรรมการล่าเหยื่อจะเริ่มเมื่ออายุ 4 สัปดาห์ และจะมีการล่าที่สมบูรณ์(มีการฆ่าเหยื่อ)เมื่ออายุ 9 สัปดาห์ สำหรับแมวเลี้ยงในปัจจุบันอาจไม่พบบ่อยนักเพราะไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมเหล่านี้
- การเล่นเป็นกลุ่มของลูกแมวจะพบมากสุดในช่วงอายุ 9-14 สัปดาห์จากนั้นลูกแมวจะเริ่มแยกตัวเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
ประสบการณ์ของลูกแมวในช่วงอายุนี้มีผลต่อพฤติกรรมเมื่อโตเต็มวัย
หลาย ๆ ครั้งพบว่าเจ้าของมักจะเล่นกับแมวด้วยการใช้มือหรือเท้าเล่นหยอกล้อ ซึ่งจะส่งผลให้โตขึ้นมามีปัญหาทางพฤติกรรมได้ ในขณะเดียวกันการที่ลูกแมวอายุก่อน 7-9 สัปดาห์ได้รับสัมผัสจากคนอย่างน้อยวันละ 15 นาที จะมีผลให้ลูกแมวที่โตขึ้นมาไม่แสดงอาการหวาดกลัวคนได้
*** สำหรับคนที่รอคอยการรับสมาชิกใหม่เข้าบ้าน อายุของน้องแมววัยนี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการย้ายที่อยู่ เปลี่ยนเจ้าของ หรือเหมาะจะซื้อมาเลี้ยง
4. 12 สัปดาห์ถึงวัยเจริญพันธุ์ (Juvenile period)
- โดยทั่วไปแมวจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 10 สัปดาห์ แต่ในพวก Oriental Breed จะพบการเป็นสัดครั้งแรกที่อายุ 4-10 เดือน พฤติกรรมต่าง ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากระยะก่อนหน้า แต่จะเริ่มมีการแยกตัวออกจากกลุ่มหรือฝูงชัดเจน
- ในแมวตัวเมีย พบการเป็นสัดแบบ seasonal polyestrous คือในรอบปีจะเป็นสัดต่อเนื่องกัน ประมาณ 3 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 28 วัน จากนั้นก็จะไม่มีอาการเป็นสัดต่อเนื่องกันไปอีกประมาณ 9 เดือน ในแมวที่เป็นสัดอาจยอมรับการผสมจากพ่อแมวได้หลายตัว และแมวจะมีการตกไข่หลังจากได้รับการผสม
การเรียนรู้ธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัยของสัตว์ จะช่วยให้เจ้าของเข้าใจในพฤติกรรมที่แสดงออกของน้องหมาได้ดีขึ้น รวมถึงเข้าใจในความความต้องการบางอย่างที่น้องแสดงออกมา หมอหวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นประโยชน์ให้กับเจ้าของมือใหม่ ได้เข้าใจพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงมากขึ้นนะครับ
เขียนโดย: น.สพ.มนต์ชัย เล็กเจริญวงศ์