นิ่ว (Urolithiasis)
จริง ๆ แล้วไม่ใช่โรคค่ะ แต่เป็นการพบก้อนผิดปกติบางอย่างในทางเดินปัสสาวะ นิ่วสามารถเกิดได้ที่ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หรือแม้กระทั่งส่วนของท่อปัสสาวะก็สามารถพบได้
นิ่วในสัตว์เลี้ยงมีด้วยกันหลายชนิด แต่หลัก ๆ เรามักพบอยู่ประมาณ 10 ชนิดที่ทำให้เกิดปัญหาได้บ่อยในน้องหมาน้องแมว หากเจ้าของต้องการสังเกตภาวะผิดปกติจากนิ่ว หมอแนะนำให้ลองดูลักษณะการปัสสาวะของน้อง เช่น
- ปัสสาวะกะปริดกะปรอยมากขึ้น
- ปัสสาวะปริมาณน้อยและบ่อยครั้ง
- อาจพบน้องมีการเลียที่อวัยวะเพศบ่อย ๆ คล้ายปัสสาวะติดขัด
- บางตัวสีของปัสสาวะผิดปกติไป พบมีเลือดปน และมีอาการเบ่งหรือร้องเจ็บปวดขณะปัสสาวะ
เจ้าของอาจสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องของความร่าเริงและการกินอาหารของน้อง สัตว์เลี้ยงบางตัวที่พบภาวะนิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะ มักมีอาการซึม เบื่ออาหาร และอาเจียนร่วมด้วย
สาเหตุของการเกิดนิ่ว
หลายคนคงสงสัยว่า “เจ้าก้อนนี้ท่านได้แต่ใดมา??” จริง ๆ แล้วสาเหตุของการเกิดนิ่วมีได้ด้วยกันหลายสาเหตุ
1. จากตัวของสัตว์เลี้ยงเอง
ทั้งในด้านความแตกต่างของสายพันธุ์ อายุ เพศ หรือสภาพแวดล้อม ทั้งหมดนี้มีผลต่อการสะสมของนิ่วที่แตกต่างกัน สุนัขพันธุ์เล็กมีโอกาสเกิดนิ่วได้ง่ายกว่าพันธุ์ใหญ่ เนื่องจากขนาดของท่อทางเดินปัสสาวะที่แคบกว่า ส่วนในแมวก็เช่นกันเราจะพบว่าน้องแมวเพศผู้มีโอกาสเกิดนิ่วได้มากกว่าเพศเมีย
2. สัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมีโอกาสเกิดนิ่วได้
เนื่องจากภาวะอักเสบทำให้เซลล์เสียหายจนเกิดการหลุดลอกของตัวเซลล์ออกมา สะสมรวมตัวกันเป็นตะกอนก้อนนิ่วในที่สุด
3. การกินอาหารบางอย่างที่มีผลต่อสมดุลความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย
ก็มีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดนิ่วได้ หรือการจัดหาน้ำดื่มให้สัตว์เลี้ยงไม่สะอาดเพียงพอก็กระตุ้นการก่อนิ่วได้เช่นกัน
4. ลักษณะการขับปัสสาวะของตัวสัตว์เอง
เช่น ไม่ค่อยขับถ่ายปัสสาวะ หรือ ถ่ายออกมาในแต่ละครั้งปริมาณค่อนข้างน้อย ซึ่งมีผลทำให้เกิดการคั่งค้างของเสียในท่อทางเดินปัสสาวะเป็นเวลานานขึ้น จนทำให้เกิดนิ่วตามมาได้
การวินิจฉัยและการรักษานิ่ว
โดยส่วนใหญ่แล้วเราสามารถแยกชนิดของนิ่วได้ด้วยตาเปล่า จากลักษณะของตะกอนในปัสสาวะ แต่ในบางกรณีที่ผลึกของก้อนนิ่วดูแล้วไม่ชัดเจน การยืนยันผ่านการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เครื่องอัลตราซาวน์ รวมถึงการวินิจฉัยผ่านเครื่องเอ็กซ์เรย์ จะเป็นสิ่งที่คุณหมอนำมาใช้ในการแยกวินิจฉัยชนิดของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ร่วมกับการตรวจค่าเลือดเพื่อดูสุขภาพโดยรวมของตัวสัตว์เลี้ยง ผลการตรวจยังช่วยประเมินระดับปัญหาที่ไต ซึ่งอาจพบการกรองของเสียลดลงจากภาวะนิ่วที่เกิดขึ้นได้
หลังจากวินิจฉัยชนิดของนิ่วได้แล้ว ก่อนทำการรักษาสัตว์เลี้ยงที่มีภาวะดังกล่าว คุณหมอจะทำการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่อาจแฝงอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อให้การวางแนวทางการรักษาโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงมีการเลือกใช้ยาปฏิชีวินะที่เหมาะสม และตรงกับเชื้อโรคที่ตรวจเพาะได้
คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำใหม่
1. แนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนชนิดของอาหาร
เพื่อสร้างสภาวะความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมต่อร่างกาย คุณหมออาจแนะนำให้น้องปรับไปกินอาหารสูตรเฉพาะโรคไต ซึ่งเป็นอาหารที่มีรสชาติอ่อน และมีความเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงที่เคยพบปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะมาก่อนหน้านี้
สำหรับอาหารแนะนำ เมื่อสัตว์เลี้ยงมีปัญหาเกี่ยวกับไตและทางเดินปัสสาวะ
2. กระตุ้นให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำมากขึ้น หรือเจ้าของอาจช่วยป้อนน้ำน้องเป็นบางครั้ง
หากสังเกตว่าน้องไม่ค่อยเข้าหาถาดน้ำ รวมถึงจำเป็นต้องมีการปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมใหม่เพื่อลดโอกาสในการกลับมาเป็นนิ่ว คำแนะนำจะขึ้นอยู่กับประวัติการรักษาของสัตว์เลี้ยงรายตัว
การพาน้องมาตรวจหานิ่วเป็นประจำ หลังจากที่รักษาหายแล้วยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากโอกาสในการกลับมาเป็นนิ่วใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแม้ว่าเราจะมีการปรับเปลี่ยนชนิดอาหาร หรือมีการกินยาเพื่อป้องกันการเกิดนิ่ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดนิ่วใหม่ได้เช่นกัน
หากเจ้าของยังมีความกังวลใจ สามารถสอบถามเข้ามาได้ที่ทาง Deemmi เพื่อขอรับคำแนะนำในเบื้องต้นได้ค่ะ การพบปัญหาและให้การรักษาที่ถูกต้องโดยฉับไว สามารถทำให้การแก้ไขเป็นไปโดยง่าย ลดความเจ็บปวดของสัตว์เลี้ยงที่ท่านรักนะคะ
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “อาหารรสเค็มกับสาเหตุของเกิดโรคไตเป็นคนละเรื่องกัน”
เขียนโดย: สพ.ญ.สุดา สุระสินธุ์อนันต์