โดยทั่วไปแล้ว ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะทั้งในสุนัขและแมวที่เจ้าของจะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายและบ่อย น่าจะเป็นการปัสสาวะลำบาก ปวดเบ่งเวลาปัสสาวะ รวมไปถึงปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น ปนเลือด ปนหนอง เป็นต้น
แต่ในบางครั้งเจ้าของก็อาจสังเกตเห็นว่า ทำไมน้องหมาน้องแมวถึงมีปริมาณปัสสาวะที่มากผิดปกติ รวมถึงปัสสาวะดูใสเกินกว่าปกติ และมีการกินน้ำที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นข้อสงสัยว่า…จริง ๆ แล้วมันคือภาวะปกติในสัตว์เลี้ยงหรือไม่ หรือมันกำลังบ่งชี้ถึงสัญญาณการเจ็บป่วยบางอย่างกับร่างกายของน้องหมาน้องแมว วันนี้เรามาหาคำตอบกัน
ปริมาณปัสสาวะเยอะขนาดไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ?
ปกติแล้ว สุนัขทั่วไปจะปัสสาวะประมาณ 20-40 ซีซี/กิโลกรัม/วัน หรือคิดเป็น 1-2 ซีซี/กิโลกรัม/ชั่วโมง ถ้าพบว่าสุนัขมีปัสสาวะมากกว่า 50 ซีซี/กิโลกรัม/วัน จะถือว่ามีปัสสาวะมากผิดปกติ เรียกว่า “มีภาวะ Polyuria ( PU )” เช่น สุนัขปกติที่หนัก 10 กิโลกรัม ควรจะมีปริมาณปัสสาวะโดยเฉลี่ย 200-400 ซีซีต่อวัน ถ้าเกินจากปริมาณนี้แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา
สำหรับในแมว ปริมาณปัสสาวะปกติจะอยู่ที่ประมาณ 28 ซีซี/กิโลกรัม/วัน ถ้าแมวมีปัสสาวะมากกว่า 40 ซีซี/กิโลกรัม/วัน ก็จะถือว่า “มีปัสสาวะมากผิดปกติ ( PU )” เช่นกัน ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา
กินน้ำปริมาณเยอะขนาดไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ?
เมื่อสุนัขและแมวปัสสาวะออกไปมากกว่าปกติ ร่างกายที่ชาญฉลาดก็จะปรับตัวให้มีการกินน้ำเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ในสภาวะที่อากาศร้อนจัด สัตว์เลี้ยงจะใช้วิธีระบายความร้อนผ่านการปัสสาวะและกินน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นว่าช่วงร้อน ๆ น้องจะกินน้ำมากขึ้นกว่าช่วงอากาศที่หนาวเย็น
แต่ในกรณีที่เจ้าของสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น น้องกินน้ำบ่อยกว่าเพื่อนสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ให้ทำการตรวจเช็คระดับการกินน้ำต่อวันดังนี้ ถ้าสุนัขกินน้ำมากกว่า 100 ซีซี/กิโลกรัม/วัน และแมวกินน้ำมากกว่า 50 ซีซี/กิโลกรัม/วัน อาจถือได้ว่า “มีภาวะกินน้ำมากผิดปกติ หรือ Polydipsia ( PD )”
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ทั้งการขับถ่ายปัสสาวะมากผิดปกติ (PU) และการดื่มน้ำมากผิดปกติ (PD) ทั้ง 2 อาการนี้มักเกิดคู่กัน แล้วมีสาเหตุอะไรได้บ้างที่โน้มนำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้
สาเหตุของอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะ (PU/PD)ในสุนัขและแมว
1. โรคไต
เมื่อสุนัขและแมวมีอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะ (PU/PD) สิ่งแรกที่สัตวแพทย์มักสงสัย คือภาวะที่ไตทำงานผิดปกติหรือไตเสื่อม เพราะจะทำให้น้ำที่ถูกกรองและขับออกจากร่างกายมีปริมาณมากขึ้น รวมทั้งไตดูดกลับน้ำได้น้อยลง ดังนั้นปัสสาวะที่ออกมาจะมีปริมาณมากและค่อนข้างใส ทำให้ร่างกายเริ่มขาดน้ำและสัตว์จะปรับตัวโดยกินน้ำมากขึ้นนั่นเอง
อ่านบทความเพิ่มเติม: อาหารรสเค็มกับสาเหตุของเกิดโรคไตเป็นคนละเรื่องกัน
2. โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้สัตว์มีอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะได้เช่นกัน เนื่องจากโรคนี้จะทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเมื่อน้ำตาลอยู่เกินกว่าระดับที่ไตจะกักเก็บดูดกลับไว้ได้ น้ำตาลจะหลุดรอดปนออกมากับปัสสาวะมาก ทำให้ปัสสาวะความเข้มข้นสูงและเพิ่มการดึงน้ำออกมากับปัสสาวะ ทำให้ปริมาณปัสสาวะสูงขึ้นนั่นเอง
3. โรคตับ
เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีการย่อยสลาย เปลี่ยนสารต่าง ๆ รวมถึงฮอร์โมนในร่างกายหลาย ๆชนิด เมื่อตับทำงานผิดปกติ ทั้งจากการเกิดตับอักเสบ ภาวะตับแข็ง ไขมันพอกตับ ไปจนถึงตับวาย ทั้งหมดนี้อาจทำให้เกิดอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะได้ โดยมีสาเหตุของความเป็นไปได้ ดังนี้
- ตับที่ผิดปกติทำให้เกิดการสร้างยูเรีย ( Urea ) ได้น้อยลง
- การเพิ่มขึ้นของสารเรนิน ( Renin ) คอร์ติซอล ( Cortisol ) และฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน ( Aldosterone )
- ภาวะที่โพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
-
-
สาเหตุของโรคตับที่พูดมานี้ ทำให้สัตว์เกิดอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะได้ เนื่องจากมันไปเปลี่ยนแปลงสารบางอย่างและฮอร์โมนบางตัวที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลน้ำในร่างกายนั่นเอง
4. มดลูกอักเสบ
อีกสาเหตุนึงที่ทำให้น้องหมาน้องแมวเกิดอาการกินน้ำเยอะฉี่ คือภาวะมดลูกอักเสบ มักเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
- สารพิษโดยตรง จากเชื้อแบคทีเรีย E. coli ซึ่งเป็นเชื้อหลักที่ทำให้เกิดภาวะมดลูกอักเสบ โดยสารพิษจะเข้าไปรบกวนการดูดกลับโซเดียม รวมทั้งทำลายตัวรับฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Antidiuretic hormone (ADH) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย
- ปฏิกิริยาระหว่างตัวเชื้อโรคและภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมบุกรุกเข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่เร่งการกำจัดเชื้อโรคออกไป ด้วยการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการทำลายล้าง ซึ่งสารนี้มีผลต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายของสัตว์ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ เช่น ไตอักเสบ (glomerulonephritis) ซึ่งเป็นผลให้เกิดภาวะที่ร่างกายขับปัสสาวะมากกว่าปกติ และกินน้ำเยอะเพื่อรักษาสมดุลน้ำตามมาได้
5. โรคฮอร์โมน
ฮอร์โมนบางอย่างเมื่อเกิดการเสียสมดุลไป ไม่ว่าจะเกิดจากสภาวะของโรค หรือการได้รับสารบางอย่างเข้าร่างกาย จะมีผลทำให้เกิดอาการกินน้ำเยอะฉี่ได้ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ และโรคเนื้องอกต่อมหมวกไต หรืออาการคุชชิง (Cushing Syndrome) เป็นต้น
6. แร่ธาตุไม่สมดุล
แร่ธาตุ เช่น ระดับแคลเซียมในเลือดที่มีสูงกว่าปกติ หรือการมีโพแทสเซียมต่ำกว่าปกติ จะทำให้สัตว์แสดงอาการกินน้ำเยอะฉี่ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถตรวจสอบภาวะเหล่านี้ได้ด้วยการตรวจเลือดสัตว์เพื่อหาระดับแร่ธาตุดังกล่าว
นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองหรือความผิดปกติบางอย่างของระบบประสาท อย่างไรก็ตามบทความนี้ หมอตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อที่จะบอกเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านว่า อาการปัสสาวะเยอะและกินน้ำเยอะนั้น ถ้าเยอะมาก ๆ จนเจ้าของเห็นว่าผิดปกติ อาจจะเป็นอาการหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ร่างกายของน้องหมาน้องแมวกำลังไม่สบายอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลย และควรรีบหาสาเหตุเพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีค่ะ
อ่านบทความเพิ่มเติม: นิ่วทางเดินปัสสาวะในสัตว์เลี้ยงเกิดได้อย่างไร
เขียนโดย: สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร