เจ้าของสัตว์เลี้ยงท่านไหนที่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า
ทำไมนะ ปรึกษาหมอคนไหนก็แนะนำให้ทำหมันน้องหมาน้องแมวกันจัง?
แล้วการทำหมันเนี่ย…มีข้อเสียบ้างไหม? เสี่ยงมากไหม? ดีกว่าฉีดยาคุมจริง ๆ รึเปล่า วันนี้หมอจะมาเฉลยทุกข้อสงสัยให้ทราบกันเลยค่ะ
การทำหมันคืออะไร
การทำหมันในสัตว์เลี้ยงเพศผู้
คือ การผ่าตัดนำอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง รวมถึงส่วนของท่อนำอสุจิจะถูกตัดออกบางส่วน ดังนั้นเมื่อทำหมันแล้ว ฮอร์โมนเพศผู้ที่ถูกสร้างจากอัณฑะเป็นหลักจะค่อย ๆ ลดลง ทำให้พฤติกรรมทางเพศ เช่น การต่อสู้แย่งชิงความเป็นผู้นำ หรือพฤติกรรมก้าวร้าวต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมก็ถูกลดลงตามมา
การทำหมันในสัตว์เลี้ยงเพศเมีย
คือ การตัดรังไข่และปีกมดลูกออกทั้ง 2 ข้าง สัตว์เพศเมียที่ได้รับการทำหมันแล้วจะพบว่าไม่แสดงอาการเป็นสัดอีก
การทำหมันดีกว่าฉีดยาคุมไหม?
การทำหมันดีกว่าและปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยงมากกว่า ข้อดีเพียงอย่างเดียวของการฉีดยาคุมให้สัตว์เลี้ยงคือ เรื่องของราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการพาสัตว์เลี้ยงมาทำหมันที่โรงพยาบาล แต่เมื่อเทียบกับเรื่องของอันตรายที่เกิดจากยาคุม และความเสี่ยงที่น้องหมาน้องแมวจะเจอกับภาวะคลอดไม่ออกหากเจ้าของบังเอิญฉีดยาคุมเข้าไปหลังสัตว์ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ซึ่งผลร้ายที่เกิดขึ้นนี้…อาจนำไปสู่ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้
ความเสี่ยงอีกเรื่องจากการฉีดยาคุมต่อเนื่องเป็นเวลานาน คือ การเกิดมดลูกอักเสบซึ่งก็อันตรายไม่แพ้กัน และยาคุมยังมีฤทธิ์เหนี่ยวนำให้สัตว์เกิดเนื้องอกที่เต้านมได้ด้วย นอกจากนี้หากเลือกวิธีฉีดยาคุมให้กับสัตว์เลี้ยง เจ้าของยังต้องมีการจดบันทึกรอบการฉีดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงแสดงอาการเป็นสัด และเผลอผสมพันธุ์จนเกิดการตั้งท้องขึ้นมา ซึ่งหลายครั้งพบว่าเจ้าของลืมบันทึกรอบการฉีดยาคุมเอาไว้ ดังนั้นการ
เลือกวิธีพาน้องไปทำหมันจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวทั้งหมด อย่างไรก็ตามเจ้าของบางคนอาจมีความกังวลใจในเรื่องการผ่าตัด กลัววางยาสลบแล้วน้องหมาน้องแมวจะไม่ฟื้น ซึ่งจริง ๆ แล้วในปัจจุบันขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้มีความปลอดภัยสูงมาก รวมถึงก่อนการผ่าตัดทางสัตวแพทย์จะมีการตรวจเช็คสุขภาพของสัตว์เลี้ยงก่อนทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการวางยาสลบและผ่าตัด
สามารถกดเข้าไปอ่านบทความ ข้อควรระวังที่ต้องรู้ภายหลังสัตว์เลี้ยงทำหมัน เพิ่มเติมได้นะคะ
การทำหมันมีข้อดีอย่างไรบ้าง
สิ่งที่เจ้าของจะสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ภายหลังสัตว์เลี้ยงทำหมันแล้วซักระยะนึง คือ เรื่องของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแตกต่างกันในเพศผู้และเมีย ดังนี้
เพศผู้
พฤติกรรมบางอย่าง เช่น ก้าวร้าว ต่อสู้แย่งชิง ขึ้นขี่กันเพื่อข่มขู่ในเพศผู้ด้วยกัน ถ่ายปัสสาวะไม่เป็นที่ในแมว การหนีออกจากบ้านในฤดูผสมพันธุ์ และการต่อสู้กับตัวอื่นเพื่อต้องการแย่งชิงตัวเมีย พฤติกรรมดังกล่าวนี้จะค่อย ๆ หายไปภายหลังการทำหมันซักระยะนึง
การทำหมันในเพศผู้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศ เช่น โรคมะเร็งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์กัน (transmissible venereal tumour) และการทำหมันยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดต่อมลูกหมากโตในสุนัขเพศผู้อีกด้วย
กดอ่านบทความ ทำไมต่อมลูกหมากโตจึงเป็นปัญหาในสุนัขเพศผู้ เพิ่มเติมได้นะคะ
เพศเมีย
การทำหมันในเพศเมียมีข้อดีเยอะมาก ทั้งเรื่องป้องกันสัตว์เลี้ยงแอบผสมพันธุ์กันจนมีลูกออกมามากมายโดยที่เจ้าของอาจจะไม่อยากได้ ช่วยป้องกันการเกิดมดลูกอักเสบ และปัญหาเนื้องอกเต้านมในสัตว์สูงวัย เป็นต้น จากสถิติพบว่าเมื่อน้องหมาน้องแมวทำหมันแล้ว จะลดโอกาสการเกิดเนื้องอกเต้านมถึงร้อยละ 3.4 ในสุนัขและ 2.5 ในแมว รวมถึงการทำหมันยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น เนื้องอก TVT และโรคแท้งติดต่อในสุนัข ส่วนในแมวโรคสำคัญที่มากับการผสมพันธุ์ ได้แก่ โรคเอดส์แมว ลิวคีเมียในแมว ( ที่ติดต่อผ่านทางน้ำลายและบาดแผลเป็นหลัก ) ซึ่งปัญหาจะลดลงไปเมื่อสัตว์ได้รับการทำหมัน
ภาพแสดงการผ่าตัดทำหมันแมวเพศเมียโดยการเปิดผ่าทางหน้าท้อง https://lbah.com/feline/spay-feline/
การทำหมันมีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ภายหลังการทำหมันแล้ว นอกจากเรื่องของพฤติกรรมที่อาจจะเปลี่ยนไป เจ้าของควรเฝ้าระวังโรคดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีความน่าจะเป็นในการเกิดหลังการทำหมัน
1. โรคอ้วน
การทำหมันเป็นปัจจัยนึงที่โน้มนำให้เกิดโรคอ้วนง่ายขึ้นในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในแมวเพศเมีย เนื่องจากอัตราการเผาผลาญที่ต่ำลงเพราะการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตามเราสามารถควบคุมโรคอ้วนได้ด้วยการจำกัดชนิดและปริมาณอาหาร รวมถึงชวนน้องไปออกกำลังกายให้มากขึ้น
2. ระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง
ปัญหาปัสสาวะเล็ดในสุนัขถูกเชื่อว่าเป็นผลมาจากการทำหมัน เนื่องจากทำให้สัดส่วนปริมาณกล้ามเนื้อและคอลลาเจนในกระเพาะปัสสาวะและท่อนำปัสสาวะของสุนัขเปลี่ยนแปลงไป ในสุนัขเพศเมียจะพบปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ร้อยละ 10-20 หลังการทำหมัน แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ โน้มนำให้เกิดได้อีก เช่น น้ำหนักตัวของสุนัขที่มาก สายพันธุ์ขนาดใหญ่ และอายุสุนัขที่ทำหมัน จากข้อมูลพบว่าสุนัขเพศเมียที่ทำหมันก่อนอายุ 3 เดือนมีความเสี่ยงของภาวะปัสสาวะเล็ดหลังทำหมันได้
3. ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
ผลเสียของการทำหมันพบได้ในสุนัขบางสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมของโรคทางข้อต่ออยู่แล้ว เช่น สุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ และลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ ที่มักพบปัญหาโรคข้อสะโพกเสื่อมและเอ็นไขว้ข้างหน้าหัวเข่าฉีกขาดเมื่ออายุมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้จะมีอายุของการทำหมันมาเกี่ยวข้องด้วย คือ ถ้าทำหมันในช่วงอายุน้อยกว่า 6 เดือน พบว่าสุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์จะมีโอกาสในการเกิดโรคข้อต่อมากกว่ากลุ่มที่ไม่ทำหมัน 4-5 เท่า ส่วนในลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์พบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับตัวที่ไม่ได้ทำหมัน แต่เมื่อทำหมันสุนัขที่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป พบว่าความเสี่ยงของการเกิดโรคทางข้อต่อไม่มีความแตกต่างกันกับสุนัขที่ไม่ได้ทำหมัน ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าสำหรับสุนัขโดยเฉพาะสายพันธุ์ขนาดใหญ่ ควรรอให้ถึงวัยเจริญพันธุ์ก่อนค่อยทำหมัน จะส่งผลดีกว่าในแง่ของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
4.4 โรคเบาหวานในแมว
ปกติแล้วความเสี่ยงของโรคเบาหวานในสุนัขและแมวทั่วไปที่ไม่ได้ทำหมันจะพบได้ที่ประมาณร้อยละ 5 แต่สำหรับในแมวที่ทำหมันแล้วกลับพบความเสี่ยงของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 2 -9 เท่า อาจเป็นไปได้ว่าโรคเบาหวานที่พบมากขึ้นหลังทำหมันเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ซึ่งมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ลดลง ซึ่งหากเราสามารถควบคุมน้ำหนักของแมวได้ โรคเบาหวานที่เกิดจากความเสี่ยงของทำหมันอาจไม่ต่างจากแมวทั่ว ๆ ไปที่ไม่ทำหมันเลยก็ได้
แม้การทำหมันจะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่ก็มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่าสุนัขและแมวควรได้รับการทำหมัน เพราะจะช่วยให้อายุยืนยาวกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ทำ โดยเฉพาะในสุนัขเพศเมียและแมวเพศผู้ที่การทำหมันจะช่วยลดปัญหาการเกิดโรคในระบบสืบพันธุ์ได้ นอกจากนี้การทำหมันยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยงและช่วยลดจำนวนสัตว์จรจัด ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการไม่คุมกำเนิดในสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสมนั่นเอง ดังนั้นหากพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียซึ่งมีโอกาสเกิดได้บ้างในบางสายพันธุ์ การเลือกวิธีการทำหมันจึงเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมมากกว่าการใช้ยาคุมกำเนิด
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.baanlaesuan.com/222244/pets/health/sterilization